วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วัดในจังหวัดสุพรรณบุรี วัดเขาดีสลัก

วัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลดอนคา ห่างจากอำเภออู่ทอง 8 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายสีแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบที่อื่น คือ รอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 มีทางรถขึ้นไปชมรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทางวัดปรับปรุงภูมิทัศน์บนยอดเขา มองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามในเขตอำเภออู่ทองโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบโพรงหินภายในมีพระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่าง ๆ อีกหลายชนิด

                                
 

มองวิวโดยรอบได้กว้างกว่า 180 องศา

 





มีรอยพระพุทธบาทอยู่ด้วย


รอยพระพุทธบาท ถือเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สำคัญประการหนึ่งของ ชาวพุทธ มีคติสร้างขึ้นในประเทศอินเดียตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล เป็นปูชนียวัตถุที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือกราบไหว้บูชาด้วยความ ศรัทธามาเป็นเวลานาน
คติความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทนี้ แพร่เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี และได้รับความนิยม เคารพนับถือสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังปรากฏรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ตามที่ต่างๆ ของประเทศไทยหลายแห่ง อาทิเช่น รอยพระพุทธบาทที่สระมรกต อ.โคกปีบ จ.ปราจีนบุรี รอยพระพุทธบาทวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และรอยพระพุทธบาทวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่บนเขาดีสลัก ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑๒ กิโลเมตร รอยพระพุทธบาทองค์นี้ค้นพบและเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๔ โดยคณะอนุกรรมการวัฒนธรรม และอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีนายมนัส โอภากุล นักวิชการท้องถิ่น เป็นแกนนำ
ลักษณะทางศิลปกรรม ของ รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก เป็นรอยพระพุทธบาทเดี่ยวสลักลงบนแผ่นดินทรายสีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖๖ เซนติเมตร ยาว ๑๔๒ เซนติเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทที่สลักเป็นรูปนูนต่ำ ทำเป็นลายรูปกลีบบัวโดยรอยพระบาท ปลายนิ้วพระบาทยาวไม่เสมอกัน นิ้วพระบาทข้อที่สองทำเป็นลายก้านขดหรือใบไม้ม้วน ซึ่งเป็นลายที่นิยมในสมัยทวารวดี บริเวณกลางฝ่าพระบาททำเป็นรูปธรรมจักรขนาดเล็ก รายล้อมด้วยภาพสลักรูปมงคล ๑๐๘ ประการ อยู่ในกรอบวงกลม ซึ่งแตกต่างจากรอยพระพุทธบาททั่วไปที่มักจะสลักลายมงคล ๑๐๘ ประการไว้ในกรอบสี่เหลี่ยม
การจัดเรียงรูปมงคลในส่วนบนจะจัดเรียงเป็นแถวแถวละ ๘ วง แต่ในส่วนล่างมีปัญหาที่ความโค้งและสอบแคบของส้นพระบาท จึงไม่สามารถจัดเรียงรูปมงคลให้เป็นแถวได้ ลักษณะที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของรอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลักนี้ก็คือ มีการจัดลำดับภูมิสูงต่ำของรูปมงคล ๑๐๘ ประการตามคติไตรภูมิ และจักรวาลในพุทธศาสนา โดยสามารถแบ่งรูปมงคลออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ
๑.รูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภพภูมิและจักรวาล จัดเรียงอยู่ส่วนบนสุดถัดจากข้อพระบาทข้อที่ ๒ ลงมา ได้แก่ พรหมโลก ทำเป็นภาพเทวดากำลังอยู่ในท่าเหาะ ๒ แถวแรก จำนวน ๑๖ องค์ เทวโลก จัดเรียงอยู่ในแถวที่ ๓ ทำเป็นภาพเทวดาอยู่ในท่านั่งแบบต่างๆ ได้แก่ ท่านั่งชันเข่าข้างเดียวหรือมหาราชลีลาสนะนั่งขัดสมาธิ และอยู่ในท่าคล้ายกำลังเหาะ มหาสมุทรทั้งสี่อยู่ถัดลงมาในแถวที่ ๔ ทำเป็นสัญลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมอยู่ภายในกรอบวงกลม
นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์รูปธรรมจักร พระอาทิตย์ พระจันทร์ อยู่ในลำดับแถวถัดลงมา
๒.เครื่องประกอบยศของพระเจ้าจักรพรรดิ จัดเรียงอยู่บริเวณกลางฝ่าพระบาทลงมา ได้แก่ พระยาช้าง อุโบสถ เป็นช้างแก้ว พระยาม้า พลาหก เป็นม้าแก้ว พระมงกุฎ ถ้วยภาชนะ กลองบัณเฑาะว์ พระมหาสังข์ คันฉ่อง ขอช้าง เป็นต้น
๓.สัญลักษณ์ที่เป็นโชคลาภและเป็นรูปสัตว์มงคล จัดเรียงอยู่บริเวณส่วนกลางถึงส่วนล่างของส้นพระบาท ได้แก่ สำเภาทอง พญาครุฑ พญาไก่แจ้ พญานาค ปลาคู่ พญากวางทอง พญาหงส์ พญาราชสีห์ ดอกไม้สี่กลีบ พญาโค และโคแม่ลูกอ่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีรูปสัญลักษณ์มงคลอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแปลความได้ เนื่องจากสัญลักษณ์มงคลบางอย่างที่ไม่สามารถแปลความได้ เนื่องจากสัญลักษณ์มงคลบางอย่างเป็นไปตามความนิยมในแต่ละช่วงสมัย ประกอบกับภาพเลือนลางมาก จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรม สามารถกำหนดได้ว่า รอยพระพุทธบาทที่วัดเขาดีสลักนี้ เป็นรอยพระพุทธบาทในสมัยทวารวดีตอนปลาย มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
เป็นวัดที่น่าท่องเที่ยวอีกหนึ่ง"วัดในจังหวัดสุพรรณบุรี"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น